สวัสดีครับ 2 ตอนที่แล้ว ผมได้นำข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรค MPN คือ การให้ยาเคมีบำบัด การลดปริมาณเม็ดเลือดแดง และ การให้เลือด ในตอนที่ 13 นี้ ขอต่อด้วย วิธีการฉายรังสี  ลองอ่านดูนะครับ

การรักษาด้วยการฉายรังสี (Radiation)

การรักษาโรคมะเร็งประกอบด้วยวิธีการรักษาหลายวิธี เช่น การฉายรังสี การผ่าตัด ยาเคมีบำบัดและการรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นต้น ซึ่งอาจจะให้การรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้หลายวิธีร่วมกัน ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการรักษาด้วยการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลโดยรังสีแพทย์ แพทย์จะอธิบายถึงบทบาทของรังสีรักษา ข้อดี-ข้อเสีย และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการรักษาและภายหลังจากเสร็จสิ้นการรักษา

วิธีการของการรักษาด้วยรังสีเป็นอย่างไร

รังสีรักษาจะทำลายสารพันธุกรรมภายในเซลล์มะเร็งและทำให้เซลล์มะเร็งได้รับความเสียหายหรือตายไป ร่างกายจะกำจัดเซลล์เหล่านี้ออกจากร่างกาย ในขณะเดียวกันเซลล์ปกติก็ได้รับผลกระทบจากรังสีด้วย แต่เซลล์ปกติเหล่านี้มีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองได้ดีกว่าเซลล์มะเร็ง ปัจจุบันเทคนิคการฉายรังสีพัฒนาไปมาก แพทย์รังสีรักษาสามารถกำหนดตำแหน่งของการฉายรังสีไปยังก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ โดยเนื้อเยื่อปกติโดยรอบได้ปริมาณรังสีน้อยมาก

วัตถุประสงค์ของการรักษาด้วยรังสีในโรคมะเร็งและเนื้องอกต่างๆ ได้แก่

เพื่อกำจัดเนื้องอกที่ยังไม่มีการกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

เพื่อลดความเสี่ยงของการกำเริบหลังการผ่าตัด หรือให้ยาเคมีบำบัด โดยสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่แต่มองไม่เห็นได้

เพื่อลดขนาดของเนื้องอกก่อนการผ่าตัด

ลดอาการต่างๆ ที่เกิดจากก้อนเนื้องอก และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ซึ่งการรักษาแบบนี้จะเรียกว่า การรักษาแบบประคับประคอง หรือการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การฉายรังสีเพื่อลดอาการปวดจากก้อนเนื้องอกไปกด หรือ การฉายรังสีเพื่อลดขนาดของก้อนที่ทำให้หอบเหนื่อย เช่นในกรณีของ โ่รค MPN ในกลุ่มโรคพังผืดในไขกระดูก MF ที่ทางแพทย์อาจจะพิจารณาทำการฉายรังสีเพื่อลดอาการม้ามโต

ผู้ป่วยบางรายอาจกลัวว่าการฉายรังสีจะทำให้เกิดมะเร็งชนิดอื่นตามมาหลังการรักษา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตามหลังการรักษาด้วยรังสีนั้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับประโยชน์ของการรักษาเพื่อให้หายขาดจากโรคมะเร็ง ซึ่งมีประโยชน์และสำคัญมากกว่า