สวัสดีครับ เมื่อตอนที่ 11 ผมได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ วิธีการรักษาโรค MPN ด้วย ยาเคมีบำบัด ตอนที่ 12 นี้ผมขอต่อด้วยวิธีการรักษาด้วยวิธีการที่เรียกว่าการลดปริมาณเม็ดเลือดแดง และการให้เลือด  มาดูกันนะครับ

การลดปริมาณเม็ดเลือดแดง (Phlebotomy)

Bloodletting (or blood-letting) – phlebotomy ส่วนใหญ่จะใช้ในความหมายเดียวกัน แต่หากดูตามตัวศัพท์แล้ว bloodletting เป็นคำที่กว้างกว่า เรียกรวมวิธีต่างๆ ในการนำ(หลั่ง)เลือดออกจากร่างกายในขณะที่คำว่า

phlebotomy มาจาก   phleps (gen. phlebos) – “vein” + -tomia -“cutting of,” from tome “a cutting”

จึงหมายถึงการ (หลั่งเลือดด้วยการ) เจาะแทงหลอดเลือดดำ  ปัจจุบัน จัดเป็นศัพท์ทางการแพทย์ – phlebotomy ที่หมายถึงการดูดเลือดเพื่อนำไปส่งห้องแล็บวิเคราะห์ หรือการให้เลือด ส่วน  Therapeutic phlebotomy นั้นเป็นการดึงเลือดออกเพื่อลดปริมาณเม็ดเลือดแดงในร่างกาย ใช้สำหรับรักษาเฉพาะบางโรค เช่น โรคเลือดข้น PV เป็นต้น

การให้เลือด (Blood Transfusion)

การให้เลือดเป็นวิธีรักษาทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดหรือมีปริมาณเลือดไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่ต้องได้รับเลือดทดแทน การให้เลือดมีความสำคัญ ขั้นตอน และความเสี่ยงใดบ้าง ผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดควรศึกษาไว้เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้

จุดประสงค์ของการให้เลือด

การให้เลือดมีจุดประสงค์หลักเพื่อทดแทนเลือดที่สูญเสียไปเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุร้ายแรง การผ่าตัดใหญ่ เช่น การผ่าตัดบายพาสหัวใจ รวมถึงผู้ที่มีโรคหรือภาวะเจ็บป่วยดังต่อไปนี้

ผู้ที่มีการติดเชื้อรุนแรง เป็นโรคตับ โรคไต หรือโรคต่าง ๆ ที่ทำให้กระบวนการผลิตเลือดของร่างกายบกพร่อง

ผู้ที่มีภาวะเลือดออก เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือเลือดออกหลังคลอดบุตร

ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางแบบซิกเคิลเซลล์ (Sickle Cell Anemia) โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) เป็นต้น

ผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย เช่น ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง เนื่องจากการใช้ยาหรือการทำรังสีบำบัด

ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับไขกระดูกบางชนิด ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับเลือดไม่เพียงพอ