สวัสดีครับ เพื่อนๆสมาชิก ทุกท่าน ตอนนี้เรามาคุยกันถึงการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาของผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะ เลือดข้น กันเลยนะครับ
การวินิจฉัยเลือดข้น
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย เช่น หน้าแดง มือและเท้าแดง ความดันโลหิตสูง เลือดกำเดาไหล หรือฟกช้ำ หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะเลือดข้นมักจะตรวจม้ามว่ามีอาการโตหรือไม่ รวมถึงแนวทางในการวินิจฉัยอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
การตรวจเลือด นิยมทำด้วยกัน 3 วิธี คือ การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจสเมียร์เลือด หรือการตรวจอีริโทโพอิติน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เพื่อวัดจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ระดับความเข้มข้นของฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง รวมถึงปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดแดง
2.การตรวจสเมียร์เลือด (Blood Smear) จะแสดงลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดแดงหากมีมากเกินไป รวมถึงตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับโรคนี้ได้
3.การตรวจอีริโทโพอิติน (Erythropoietin Test) ในผู้ที่มีภาวะเลือดข้นอาจมีจำนวนของฮอร์โมนอีริโทโพอิตินในเลือดผิดปกติได้
4.การตรวจไขกระดูก ด้วยวิธีการดูดและเจาะเนื้อเยื่อไขกระดูก (Bone Marrow Aspiration and Biopsy) และวิเคราะห์ผลโดยนักโลหิตวิทยาหรือนักพยาธิวิทยา โดยในผู้ที่มีภาวะเลือดข้นจะมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดที่มากกว่าปกติ
5.การตรวจหาสารพันธุกรรมเจเอเคทู (JAK2) ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ที่มีภาวะเลือดข้นที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารพันธุกรรมเจเอเคทู (Polycythemia Vera) ซึ่งตรวจพบได้จากการตรวจเลือดและการดูดและเจาะเนื้อเยื่อไขกระดูก
การรักษาเลือดข้น
ในการรักษามีจุดประสงค์เพื่อลดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ร่างกายผลิตออกมามากผิดปกติและป้องกันการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงบรรเทาอาการต่าง ๆ จากภาวะเลือดข้น เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่า เห็นภาพซ้อน เป็นต้น โดยแพทย์จะมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้
1.การถ่ายเลือด (Phlebotomy) วิธีการจะคล้ายกับการบริจาคเลือด แพทย์หรือพยาบาลจะใช้เข็มเจาะที่เส้นเลือดบริเวณแขนแล้วถ่ายเลือดออกจากร่างกาย เพื่อกำจัดเซลล์เม็ดเลือดที่มีจำนวนมากเกินไป โดยจะรักษาทุกสัปดาห์ หากอาการดีขึ้นจะลดลงเหลือทุก ๆ 6-12 สัปดาห์ หรือน้อยกว่านั้น จนกว่าผู้ป่วยจะมีระดับความเข้มข้นของเลือดลดลงไปจากเดิมประมาณ 45% ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหนื่อยหรือเมื่อยล้าหลังการถ่ายเลือด และเส้นเลือดอาจได้รับความเสียหายหากมีการถ่ายเลือดหลายครั้ง
2.การใช้ยา เมื่อผู้ป่วยมีระดับความเข้มข้นของเลือดลดลงแล้ว แพทย์อาจจะให้รับประทานยาเพื่อชะลอการทำงานของไขกระดูกในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง
2.1ยาไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาและชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในร่างกาย หรือใช้ในการป้องกันและรักษาผู้ที่มีภาวะม้ามโต ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของภาวะเลือดข้น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย มีผื่นคัน เป็นต้นฟอ
2.2ยาอินเตอร์ฟารอนอัลฟ่า (Interferon-Alpha) เป็นยาที่ใช้ชะลอการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้จากการใช้ยา เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
2.3 ยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นยาต้านเกร็ดเลือด ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงอาจช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น อาการแสบร้อนที่มือและเท้า อาการคัน อาการปวด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาแอสไพรินเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้จากการใช้ยาเป็นประจำทุกวัน เช่น เลือดออกมาก โดยเฉพาะในกระเพาะอาหาร หรือส่วนอื่น ๆ ของระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
Cr. ข้อมูลบางส่วนจาก เว็บ pobpad
#mpn #mpnthailand