สวัสดีครับเพื่อนๆสมาชิกทุกท่าน 1 ใน 3 ชนิดของโรค MPN ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพวกเรา ก็คือ โรค Polycythemia Vera หรือ PV ที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทย หลายชื่อ เช่น โรคเลือดข้น โรคเลือดหนืด โรคเม็ดเลือดแดงสูง เป็นต้น แต่ผมขอเลือกเรียกว่า โรคเลือดข้น นะครับ เรามาทำความรู้จักกับโรคเลือดข้น กันครับ
เลือดข้น (Polycythemia) คือ ภาวะที่ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดในจำนวนที่มากผิดปกติ ทำให้เลือดข้นขึ้น ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย และทำให้ผู้ป่วยหน้าแดง มือและเท้าแดง ความดันโลหิตสูง เลือดกำเดาไหล ฟกช้ำ เป็นต้น
อาการของเลือดข้น
ผู้ที่มีภาวะเลือดข้นในระดับที่ไม่รุนแรงจะมีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ ตาพร่า หน้าแดง มือและเท้าแดง อ่อนเพลีย ความดันโลหิตสูง รู้สึกไม่สบายท้อง เลือดกำเดาไหล ฟกช้ำ มีอาการของโรคเกาต์ เช่น มีอาการปวดและบวมตามข้อ หรือคันตามผิวหนังโดยเฉพาะหลังอาบน้ำ เป็นต้น ภาวะเลือดข้นอาจจะส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือโรคหลอดเลือดสมองได้
สาเหตุของเลือดข้น
ภาวะเลือดข้นมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะแบ่งตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น น้ำหนักตัวเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ปัญหาจากการผลิตเซลล์เม็ดเลือด หรือเป็นผลมาจากโรคต่าง ๆ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.ภาวะเลือดข้นที่มีสาเหตุจากปริมาณน้ำเลือดหรือพลาสมาลดลง (Apparent Polycythemia) มักมีสาเหตุมาจากการที่มีน้ำหนักตัวเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การใช้ยาขับปัสสาวะ หรือเป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำในร่างกาย
2.ภาวะเลือดข้นที่มีสาเหตุจากไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงออกมาในปริมาณที่มากเกินไป (Absolute Polycythemia) แบ่งได้ 2 ประเภท ดังต่อไปนี้
2.1ภาวะเลือดข้นที่ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ (Primary Polycythemia หรือ Polycythemia Vera) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารพันธุกรรมเจเอเคทู (JAK2) ทำให้ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงในปริมาณที่มากผิดปกติ และผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดในปริมาณที่มากผิดปกติด้วยเช่นกัน มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ
2.2 ภาวะเลือดข้นที่มีสาเหตุมาจากการผลิตฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (Erythropoietin) ในปริมาณที่มากเกินไป (Secondary Polycythemia) หรืออาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ เช่นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnoea) ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ จึงผลิตฮอร์โมนอีริโทโพอิตินมากขึ้นและเกี่ยวกับไต เช่น เนื้องอกในไต หรือการตีบของหลอดเลือดแดงในไต เป็นต้น
ตอนหน้ามาคุยกันต่อในในเรื่องการวินิจฉัยและวิธีการรักษา ขอบคุณครับ
Cr. ข้อมูลบางส่วนจากเว็บ pobpad #mpn #mpnthailand