สวัสดีครับ ตอนที่แล้ว ได้นำเสนอเรื่อง การตัดม้าม ในตอนที่ 15 นี้ ผมขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับ วิธีการรักษาโรค MPN ด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งผู้ป่วย โรค MPN ทั้ง 3 โรค คือ PV , ET และ MF ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหรือผลการตอบสนองของการรักษาไม่ได้ผลและกลายเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน หรือเรียกสั้นๆว่า AML แล้วแพทย์อาจจะพิจารณาใช้วิธีการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) ในอดีตเรียกว่าการปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคเลือดบางชนิด เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ ไขกระดูกทำงานผิดปกติ และมะเร็งระบบเลือดต่างๆ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูกระบวนการสร้างเม็ดเลือดในร่างกาย

ชนิดของการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell)

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยใช้เซลล์ของตนเอง (autologous stem cell transplantation)

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยใช้เซลล์ของผู้บริจาค (allogenic stem cell transplantation) ซึ่งสามารถมีแหล่งของผู้บริจาคได้ต่างๆ ดังนี้

ผู้บริจาคเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน ที่มีลักษณะพันธุกรรมจากการตรวจ (human leukocyte antigen: HLA) เข้ากันได้ 100% (match-related donor)

ผู้บริจาคที่มี HLA ไม่ตรงกับผู้รับ 100% (mismatch donor)

ผู้บริจาคที่ไม่ใช่พี่น้องของผู้รับ แต่มี HLA ที่เข้ากันได้ 100% (match-unrelated donor)

ผู้บริจาคมี HLA ที่เข้ากันได้กับผู้รับเพียงครึ่งเดียว (haploidentical donor) ส่วนใหญ่ผู้บริจาคมักเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน หรือพ่อแม่ลูก

แหล่งของเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell)

เราสามารถเก็บแยกเซลล์ต้นกำเนิดได้จาก ไขกระดูก กระแสเลือด และรกของเด็กแรกเกิด

โรคหรือภาวะที่สามารถรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell)

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยใช้เซลล์ของตนเอง สามารถใช้ในการรักษา

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด multiple myeloma

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma)

มะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia)

โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติบางชนิดที่มีความรุนแรงมาก จนการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล

วิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell)

ก่อนเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความพร้อมและเตรียมตัว โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม รวมถึงแผนการรักษาก่อนการปลูกถ่าย ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาเคมีบำบัดและ/หรือการฉายแสง

เมื่อเริ่มการรักษา ผู้ป่วยจะต้องนอนพักรักษาตัวในห้องปลอดเชื้อแบบพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ จากนั้นผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดและ/หรือการฉายแสงเพื่อทำลายเซลล์ที่ผิดปกติในร่างกาย (มีผลต่อเซลล์ปกติอื่นๆ ด้วย) เมื่อได้รับยาเคมีบำบัดและ/หรือการฉายแสงแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดทางหลอดเลือดดำใหญ่ โดยช่วงเวลาที่เหลือจะเป็นการพักฟื้นให้ไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดทำงาน ระยะนี้ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรงจากภูมิต้านทานต่ำในช่วงของการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด

ภาวะร่างกายต่อต้านเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้รับ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่ได้รับเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาค หรือเกิดภาวะร่างกายปฏิเสธเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้รับ ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย ผลจากการได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูง ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย และอาจมีอันตรายถึงชีวิต

Cr: ต้องขอขอบคุณแหล่งข้อมูลต่างๆด้วยนะครับ