โรคพังผืดในไขกระดูก (Myelofibrosis, MF)
เป็นโรคมะเร็งไขกระดูกชนิดหายาก จัดอยู่ในกลุ่มของมะเร็งโลหิตวิทยา หรือมะเร็งโรคเลือด (Blood Cancers) เมื่อเป็นแล้วจะส่งผลต่อการผลิตเซลล์เม็ดเลือด ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้ตามปกติ และทำให้เซลล์เม็ดเลือดทำงานผิดปกติด้วย เมื่อเซลล์เม็ดเลือดทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้เกิดพังผืดที่ไขกระดูก ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางรุนแรง จนรู้สึกเหนื่อยล้าและหมดเรี่ยวแรงอย่างหนัก นอกจากนี้ โรคพังผืดในไขกระดูกยังอาจทำให้ผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำ จนเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกได้ง่ายขึ้น และผู้ป่วยโรคพังผืดในไขกระดูกส่วนใหญ่ มักมีปัญหาม้ามและไตโตด้วย
โรคพังผืดในไขกระดูกนี้ หากเกิดขึ้นเองจะเรียกว่า โรคพังผืดในไขกระดูกปฐมภูมิ (Primary Myelofibrosis) แต่หากเป็นผลมาจากโรคอื่น จะเรียกว่า โรคพังผืดในไขกระดูกชนิดทุติยภูมิ (Secondary Myelofibrosis)
พบมากในคนอายุ 60-70 ปี ประมาณร้อยละ 50-60 ของผู้ป่วยโรคพังผืดในไขกระดูกมีการกลายพันธุ์ของยีน ชื่อ JAK 2 mutation
อาการของโรค
โดยปกติแล้ว อาการของโรคพังผืดในไขกระดูกจะพัฒนาช้ามาก และเมื่อยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ก็มักจะไม่แสดงอาการหรือสัญญาณใด ๆ ที่สามารถสังเกตได้โดยง่ายด้วย แต่หากอาการของโรคพัฒนาขึ้น และส่งผลกระทบต่อการผลิตเซลล์เม็ดเลือดมากขึ้น ก็มักจะทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง หรือหายใจไม่เต็มอิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะภาวะโลหิตจาง
- รู้สึกปวดหรือแน่นบริเวณซี่โครงข้างซ้าย เนื่องจากม้ามโตขึ้น
- ฟกช้ำง่าย
- เลือดออกง่าย
- เหงื่อออกมากขณะนอนหลับ (เหงื่อออกตอนกลางคืน)
- มีไข้
- ปวดกระดูก หรือปวดข้อต่อ
- ผิวซีด
- ติดเชื้อบ่อย
- เลือดคั่งหรือเกิดลิ่มเลือดโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นประจำ
- มีอาการคัน
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
เข้าใจเพิ่มเติม เป็นแล้วรักษาอย่างไร พร้อมภาพประกอบสวยๆ อ่านง่าย ได้ที่นี่