สวัสดีครับ ตอนที่ 18 ผมได้นำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ยาที่ใช้รักษาโรค MPN คือ ยา อินเตอร์เฟียรอน IFN ในตอนที่ 19 นี้ ผมขอเอาข้อมูลเพิ่มเติม ของยา รักโซลิทินิบ Ruxolitinib อีกหนึ่งตัวที่ทาง Speaker นำเสนอและพูดถึงกันมากในที่ประชุม มาโพสไว้ดังนี้ครับ

ยารักโซลิทินิบ(Ruxolitinib หรือ Ruxolitinib phosphate) เป็นยาในกลุ่มจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์ (Janus kinase inhibitor, ยาต้านการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตัวรับต่างๆ) ได้รับการขึ้นทะเบียนในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) ทางคลินิกใช้ยานี้รักษาอาการโรคมัยอีโลไฟโบรซิส/โรคไขกระดูกเป็นพังผืด(Myelofibrosis)ซึ่งลักษณะอาการ ของผู้ป่วยจะมีพังผืดเกิดขึ้นในไขกระดูก มีเกล็ดเลือดลดลง เกิดภาวะม้ามโต ปวดกระดูก ตับโต อ่อนเพลีย กรดยูริคในเลือดสูง มีภาวะติดเชื้อง่ายเช่น ปอดบวม มีภาวะหายใจ ไม่ค่อยสะดวกด้วยเกิดโลหิตจาง ผู้ป่วยบางรายจะมีปริมาตรของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น หรือเกิดอาการทางผิวหนังปูดเป็นปม/เป็นก้อนเนื้อขึ้นมา นอกจากนี้ทางการแพทย์ยังใช้ยารักโซลิทินิบ รักษาอาการผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติหรือที่เรียกว่า โรคเลือดหนืด(Polycythemia vera)

ยารักโซลิทินิบที่จำหน่ายในประเทศไทย มีเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ 95% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงและทำลายโครงสร้างของยารักโซลิทินิบ ตัวยาชนิดนี้ต้องใช้เวลา 2.8–3 ชั่วโมงในการสลายตัว ก่อนที่จะถูกกำจัดทิ้งไปกับปัสสาวะ(74%) และอุจจาระ(22%)

ทั้งนี้ มีข้อพึงระวังหรือคำเตือนที่แพทย์จะแนะนำให้กับผู้ป่วยเพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความร่วมมือสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะที่ใช้ยาชนิดนี้ เช่น

ยารักโซลิทินิบ สามารถทำให้เกิด ภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ จนทำให้มีภาวะ            เลือดออกง่ายตามมา ดังนั้นก่อนสั่งจ่ายยาชนิดนี้ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายของผู้ป่วยเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของเลือด(การตรวจเลือดซีบีซี)ในเบื้องต้นและใช้เป็นข้อมูลสำหรับปรับขนาดรับประทาน

ยารักโซลิทินิบอาจทำให้มีภาวะเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำ ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยง ต่อการติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส ดังนั้นหากพบอาการคล้ายกับมีการติดเชื้อในระหว่างที่ได้รับยาชนิดนี้ ผู้ป่วยจะต้องรีบเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษา

ยาชนิดนี้ มีการกำจัดทิ้งออกจากร่างกายโดยผ่านตับและไต เพื่อความมั่นใจว่ายา รักโซลิทินิบปลอดภัยกับตัวผู้ป่วย แพทย์ต้องขอตรวจเลือดดูการทำงานของ ตับ ไต กรณีพบว่าอวัยวะดังกล่าวมีความผิดปกติ แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานยานี้ลดลงในสัดส่วนที่เหมาะสม

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ยารักโซลิทินิบเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องมีคำสั่งจ่ายยาจากแพทย์ มีการจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Jakavi และจะพบเห็น การใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

Credit: ต้องขอขอบคุณเจ้าของข้อมูลด้วยครับ เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร