สวัสดีครับ 10 ตอนที่ผ่านมา ของการสรุปหัวข้อการประชุมนานาชาติ MPN Horizons 2018 ผมได้พูดถึง ลักษณะของโรค การระบาดวิทยาและอุบัติการ อาการของโรคและผลข้างเคียง วิธีการรักษา รวมทั้งผลการศึกษา ของ โรค MPN ทั้ง 3 โรค คือ โรคเลือดข้น PV โรคเกล็ดเลือดสูง ET และโรค พังผืดในไขกระดูก MF และเชื่อมั่นว่าถ้า ทุกท่านที่ได้เข้ามาอ่านครบทั้ง 10 ตอนแล้ว น่าจะมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรค MPN ทั้ง 3 โรค มากขึ้นกว่าตอนที่ยังไม่ได้เข้ามาอ่านกันนะครับ
ตั้งแต่ตอนที่ 11 นี้เป็นต้นไป ผม อยากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมในรายละเอียดมากขึ้น ให้มีความเข้าใจมากขึ้น เกี่ยวกับ วิธีการรักษาโรค MPN ซึ่งแพทย์ที่รักษาเราจะพิจารณาตามลักษณะอาการและความรุนแรงของโรค MPN ทั้ง 3 โรคในแต่ละผู้ป่วยเป็นรายๆไปตามความเหมาะสม ซึ่งมีวิธีการรักษาโรค หลายวิธีดังนี้
การบำบัดด้วยยาเคมี (Chemotherapy)
การลดปริมาณเม็ดเลือดแดง (Phlebotomy)
การให้เลือด (Blood Transfusion)
การฉายรังสี(Radiation)
การตัดม้าม (Splenectomy)
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell Transplant)
การทดลองทางคลินิก (Clinical Trial)
การรักษาด้วยยายับยั้ง ยีน JAK (Janus Kinase Inhibitor)
ผมขอเริ่มต้นด้วยวิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เป็นวิธีแรกเลยนะครับสำหรับในตอนที่ 11 นี้
เคมีบำบัด (Chemotherapy)
เคมีบำบัดเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรค MPN เพื่อลดการทำงานของไขกระดูก เช่น ยา Hydroxyurea, Chlorambucil, Busulfan เป็นต้น
การรักษาด้วยเคมีบำบัด (chemotherapy) หมายถึง การให้ยาเพื่อทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคมะเร็งและไม่กลับมาเป็นซ้ำ ควบคุมโรคให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงหรือไม่โตขึ้น และไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น บรรเทาอาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจาย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
อย่างไรก็ดี เนื่องจากยาเคมีบำบัดไม่ได้ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงที่เซลล์มะเร็งเท่านั้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติทั่วไปและการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากอักเสบ เบื่ออาหาร ภูมิต้านทานต่ำ ท้องเสีย ผมร่วง ซึ่งอาการเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดของยา ความแข็งแรงของร่างกาย และความพร้อมด้านจิตใจของผู้ป่วย
วิธีการให้เคมีบำบัด
ยาเคมีบำบัดสามารถบริหารเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยได้หลายวิธี ได้แก่
เคมีบำบัดชนิดรับประทาน ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจไม่สามารถรับประทานได้ เนื่องจากระบบทางเดินอาหารดูดซึมไม่ดี หรือยามีการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารมาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียได้
เคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากช่วยให้ยาสามารถกระจายไปทั่วร่างกายได้รวดเร็ว
เคมีบำบัดชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยม เพราะยาทำให้เกิดการระคายเคืองและทำลายผิวหนังและกล้ามเนื้อได้
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยอาจได้รับยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน และอาจได้รับเพียงวันเดียวหรือหลายวันติดต่อกัน หรือสัปดาห์ละครั้งก็ได้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกสูตรยาและตารางการให้ยาเคมีบำบัดที่เหมาะสมกับชนิดของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย
การเลือกใช้ยาเคมีบำบัด
การเลือกใช้ยาเคมีบำบัดที่ถูกต้องทั้งชนิด ปริมาณ และระยะเวลาการให้ยา มีความสำคัญต่อประสิทธิผลของการรักษาโรคมะเร็งเป็นอย่างมาก เนื่องจากยาเคมีบำบัดจัดเป็นยาอันตราย การได้รับยาในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง แต่หากได้รับยาในปริมาณที่น้อยเกินไปก็อาจไม่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้
ในการเลือกสูตรยาเคมีบำบัด แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง อายุ ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย โรคประจำตัว ประวัติการรักษามะเร็งในอดีต ผลข้างเคียง การออกฤทธิ์เสริมหรือต้านฤทธิ์ระหว่างยาเคมีบำบัดเมื่อใช้หลายชนิดร่วมกัน โดยผู้ป่วยอาจได้รับยาเคมีบำบัดเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิด ซึ่งการใช้ยาหลายชนิดร่วมกันจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ยาเพียงชนิดเดียว
Cr: เจ้าของข้อมูลทุกท่านที่ได้เคยโพสไว้แล้วทางอินเตอร์เนทในเพจต่างๆ