คอลัมน์ รู้ทันโรค: ‘เม็ดเลือดสูง’มฤตยูเงียบที่ต้องระวัง
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 หน้า 6
เคยได้ยินแต่ความดันโลหิตสูง เชื่อว่าผู้อ่านก็เช่นกัน น้อยคนที่จะรู้จักหรือคุ้นหูโรค “เม็ดเลือดสูง”
จริงๆ แล้วโรคเลือดนับเป็นปัญหาสุขภาพที่ถือเป็นภัยเงียบ เพราะมักจะเกิดเอฟเฟ็กต์โดยที่เราไม่รู้ตัว บางโรค เกิดจากพันธุกรรม และบางโรคก็เกิดจากการทำงานของอวัยวะในร่างกายที่ผิดปกติ ที่สำคัญเช่น โรคโลหิตจาง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคฮีโมฟิเลีย โรคธาลัสซีเมีย และโรคลิวคีเมีย หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
แล้วโรคเม็ดเลือดสูง มีลักษณะอย่างไร และใครบ้างที่ต้องระวัง!
ในงานสัมมนาให้ความรู้ผู้ป่วยโรคเอ็มพีเอ็น ครั้งที่ 1 ในชื่อ “เม็ดเลือดสูง มฤตยูเงียบ” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จัดโดย ชมรมโรคเอ็มพีเอ็น แห่งประเทศไทย (Thai MPN working group) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของโลหิตแพทย์ที่มีความน่าสนใจและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางโรค MPN (Myeloproliferative Neoplasms) หรือเรียกชื่อรวมๆ ว่า มะเร็งโรคเลือด
ที่สำคัญงานในครั้งนี้ ยังได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจนั่นคือ มีอุบัติการณ์ของโรคนี้ราว 0.4-1.46 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี
ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล ประธานชมรมโรคเอ็มพีเอ็น (MPN) แห่งประเทศไทย (Thai MPN Working Group) กล่าวว่า โรคเอ็มพีเอ็น เป็นการเรียกชื่อรวมของมะเร็งโรคเลือด ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือด นำไปสู่การผลิตเซลล์เม็ดเลือดมากเกินปกติอย่างรวดเร็ว
สามารถแบ่งเป็นแบบที่มีฟิลาเดลเฟีย โครโมโซม คือมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ (CML) และไม่มีฟิลาเดลเฟียโครโมโซม หรือที่เรียกว่า Philadelphia-chromosome negative สำหรับแบบที่ไม่มีฟิลาเดลเฟียโครโมโซม สามารถแบ่งย่อยเป็น 3 โรคที่พบค่อนข้างบ่อย โดยขึ้นกับชนิดของเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติและอุบัติการณ์ของโรค ได้แก่
1. โรคเลือดข้น (PV) คือร่างกายมีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ อุบัติการณ์ 2 ราย ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี
2. โรคเกล็ดเลือดสูง (ET) ร่างกายมีการผลิตเกล็ดเลือดมากกว่าปกติ อุบัติการณ์ 1.5-3 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี
3. โรคพังผืดในไขกระดูก (MF) มีการสร้างพังผืดในไขกระดูก ซึ่งส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ
สำหรับผู้ป่วยโรคเอ็มพีเอ็น อาจจะมีอาการหรือไม่มีก็ได้ โดยอาการที่แสดงของโรคจะแตกต่างกัน แม้จะอยู่ในสภาวะโรคเดียวกัน อย่างไรก็ตามมีอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า (Fatigue), ซีดจาง (Anemia), คัน (ltching), เหงื่อออกมากผิดปกติในตอนกลางคืน (Night sweat) และปวดกระดูก (Bone pain) บางรายอาจมีไข้ และน้ำหนักลด เป็นต้น ซึ่งสามารถเรียกอาการเหล่านี้ได้ว่าเป็น Constitutional symptoms ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน
ผู้ป่วยโรคเอ็มพีเอ็นบางรายมีการกลายเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นท้องจากม้ามโต (Splenomegaly) ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิต ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ โรคนี้มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก
สำหรับเป้าหมายของการรักษาโรคเอ็มพีเอ็นนี้คือการบรรเทาอาการ และลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเอ็มพีเอ็น รวมถึงทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ปัจจุบันการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ การรักษาด้วยยา การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow or stem cell transplant) การนำเลือดออกจากร่างกาย (phlebotomy) การให้เลือดแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะซีด ซึ่งทั้งนี้การรักษาจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับสภาวะและความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยควรควบคุมไขมันในเลือดและงดสูบบุหรี่ซึ่งเป็นตัวการทำให้ภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดมากขึ้น และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรคอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับคนที่แสดงอาการของโรค หรือสงสัยว่าตนเองมีความผิดปกติหรือไม่จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัยและรักษาในขั้นตอนต่อไป
5 สัญญาณเตือนว่าคุณผิดปกติแล้ว!
แม้ว่าเราจะรู้ได้ยากหากไม่มีการตรวจเลือด แต่เมื่อเลือดมีปัญหาร่างกายคุณจะส่งสัญญาณว่าร่างกายคุณไม่ปกติแล้ว
1. มีอารมณ์ซึมเศร้า เหงา รู้สึกไม่สดชื่น
2. ร่างกายอ่อนเพลียและรู้สึกเหนื่อยง่าย
3. มักมีอาการหน้ามืด และเป็นลมบ่อยๆ
4. เมื่อมีอะไรมากระแทกหรือเดินชนสิ่งของร่างกายเกิดจ้ำเลือดได้ง่าย หรือบางครั้งอาจเกิดจ้ำเลือดตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุว่ามันมาได้อย่างไร
5. ร่างกายอ่อนแอ ทำให้มักติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น